เรื่องเล่าความดี-ความฝันของอัญชลี

ความฝันของอัญชลี

       ชมภูนุช เศรษฐผล

โรงพยาบาลมวกเหล็ก จ.สระบุรี

                 “ พี่  วันนี้ว่างมั๊ย ไปเยี่ยมคนไข้กับผมหน่อย ” เสียงจากน้องสสอ.ดังมาตามสายในบ่ายของวันหนึ่ง ข้อมูลที่ฉันได้รับขณะนั่งรถไปด้วยกันคือ เด็กหญิงอัญชลีป่วยไปตรวจที่รพ.แพทย์ส่งตรวจAnti HIV ผลPositive แพทย์แจ้งผลกับน้าของเด็ก แล้วนัดตรวจซ้ำ แต่ผู้ป่วยไม่ไปตรวจตามนัด รพ.จึงประสานให้สสอ.ติดตาม เมื่อไปที่โรงเรียนที่เด็กเรียนหนังสืออยู่เป็นเวลาใกล้เลิกเรียน เด็กๆนั่งรวมกลุ่มกันอยู่ที่สนามหญ้า เมื่อแนะนำตัวกับครูประจำชั้น ป4.และชี้แจงว่ามาติดตามเด็กที่ไม่สบาย  ครูมีสีหน้าแปลกใจเล็กน้อยพร้อมกับเรียกเด็กออกมาจากกลุ่ม ภาพเด็กหญิงที่ฉันเห็น เป็นเด็กรูปร่างผอม ผิวคล้ำ ตามแขน ขาสองข้างมีตุ่มใสๆ หน้าตาไม่สดใสเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน หลังจากสอบถามสาเหตุที่ไม่ได้ไปตรวจตามนัด เด็กหญิงบอกว่าอยู่กับยายสองคน ไม่มีคนพาไป ยังมีอาการไอ เหนื่อยมาก ไม่มีแรง เมื่อขอให้พาไปหายายที่บ้าน  ครูแจ้งว่ายายไม่ค่อยอยากให้ใครไปที่บ้าน แต่ฉันก็คะยั้นคะยอจนเด็กหญิงยอมพาไปบ้าน เมื่อพบกับยายและได้พูดคุยกัน ยายมีท่าทางไม่ยินดีที่จะให้เราไปเยี่ยมอีก และปฏิเสธที่จะพาเด็กไปรักษา โดยยายบอกว่าพ่อแม่เด็กเป็นเอดส์ตาย เด็กก็คงอยู่ได้ไม่นาน กลัวชาวบ้านจะรู้แล้วรังเกียจตนเอง ฉันจึงให้ข้อมูลเรื่องโรค การติดต่อ และยาต้านไวรัส ก่อนกลับฉันขออนุญาตยายมารับเด็กหญิงไปตรวจเลือดเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง โดยฉันจะมารับเด็กด้วยตนเองในวันจันทร์

                เมื่อถึงวันนัดฉันไปรับดญ.อัญชลี ด้วยรถรพ.จากการสอบถาม พูดคุย อัญชลี บอกกับฉันว่าตั้งแต่กลับจากรพ.ยายรู้ว่าเป็นเอดส์ ยายก็ไม่ให้นอนด้วย ให้กางมุ้งนอนต่างหาก ไม่ให้กินข้าวรวมกับยาย อัญชลีมักจะไปอยู่กับเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันและไม่รังเกียจเมื่อรู้ว่าอัญชลีติดเชื้อเอดส์ ส่วนอาการป่วยทำให้เหนื่อย ไอบ่อย ครูไม่อยากให้ไปรร.กลัวแพร่เชื้อให้เพื่อน เมื่อถึงรพ.ผลการตรวจยืนยัน อัญชลีติดเชื้อเอดส์ และตรวจไม่พบวัณโรค ฉันกลับไปส่งอัญชลีพร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนในการรักษาให้ยายฟัง ยายบอกว่าต้องขออนุญาตน้าของอัญชลีก่อนว่าจะให้รักษาหรือไม่ แต่น้าอยู่อีกอำเภอ นานๆจะมาสักครั้ง ต้องรอก่อน ฉันจึงต้องกลับมาพร้อมกับความหวังว่าน้าจะให้ความร่วมมือและยินยอมให้อัญชลีเข้ารับการรักษาโดยเร็ว หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ฉันได้รับการติดต่อจากเพื่อนบ้านของยาย ที่ฉันให้เบอร์ติดต่อไว้ ว่าน้าให้อัญชลีเข้ารับการรักษาได้แต่ฉันต้องเป็นผู้รับผิดชอบการมารับมาส่ง ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะเด็กไม่มีบัตรใดๆทั้งสิ้น ฉันตอบตกลงทันทีและนัดวันไปรับเด็กเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา จนในที่สุดอัญชลีได้เริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในโครงการ NAPHA EXTENSION โดยทุกครั้งที่มารับยา ฉันจะเป็นคนขอรถรพ.ไปรับและไปส่ง ส่วนการกินยาฉันให้นาฬิกาปลุกไป 1 อันเพื่อให้ดูเวลา และเน้นให้กินยาตามเวลาที่กำหนด จากการสอบถามอัญชลีพยายามกินยาตามเวลา แต่บางครั้งอาจมีเลยเวลาไปบ้างแต่ไม่บ่อย ซึ่งเมื่อประเมินจากสภาพร่างกายแล้ว อาการไอน้อยลง น้ำหนักเพิ่มขึ้น ตุ่มคันตามตัวยุบลง แต่ปัญหาใหม่ที่ฉันพบเมื่อฉันถามอัญชลีว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เด็กหญิงบอกว่า “หนูอยากเป็นเหมือนป้า (พยาบาล) แต่หนูคงไม่ได้เรียนแล้วเพราะครูบอกว่าหนูไม่มีบัตรประชาชน  ทุกวันนี้ที่ได้เรียนเพราะครูสงสาร” ฉันลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท เพราะตอนนั้นคิดแค่ว่าให้เด็กได้รับยาก็พอใจแล้ว หลังจากนั้นฉันจึงเริ่มต้นโดยโทรไปขอสำเนาใบสูติบัตรที่รพ.ราชวิถี ที่แม่ของอัญชลีไปคลอด ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถค้นประวัติให้ได้เพราะเกิน 10 ปี ประวัติถูกยกเลิกไปแล้ว เมื่อปรึกษาไปที่ที่ว่าการอำเภอ จนท.ยืนยันว่าต้องใช้ใบเกิดมาแจ้ง เมื่อไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหนได้ ฉันเริ่มคิดหาช่องทางใหม่ โดยไปปรึกษา สาธารณสุขอำเภอเพื่อให้ช่วยประสานขอคำแนะนำจากนายอำเภอเรื่องใบเกิดของเด็ก

                2 เดือนผ่านไปฉันได้รับข่าวดี เมื่อสสอ.แจ้งว่านายอำเภอให้พาเด็กมาทำเรื่องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านได้แต่ต้องมีผู้ใหญ่บ้าน ครูประจำชั้น ยายที่อยู่กับเด็ก และบุคคลที่เชื่อถือได้มาให้บันทึกปากคำที่อำเภอด้วย เหมือนเช่นเคยที่ฉันต้องไปพบกับยายที่บ้าน เพราะอัญชลีบอกฉันว่ายายไม่ยอมไปให้บันทึกปากคำที่อำเภอ ยายบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องของยาย ฉันไปขอร้องยายให้เห็นแก่อนาคตของเด็กในเรื่องการเรียนและสิทธิอื่นๆที่จะได้รับถ้ามีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อนบ้านยายก็ช่วยกันขอร้อง ฉันรับปากว่าจะหารถมารับยายไปอำเภอเมื่อยายพร้อม ยายจึงตอบตกลงแบบไม่ค่อยเต็มใจ แต่แค่นี้ฉันก็ดีใจแล้ว ส่วนผู้ใหญ่บ้านเต็มใจที่จะไปให้ปากคำเพราะเคยเห็นอัญชลีมาตั้งแต่เกิด เมื่อถึงวันนัดที่อำเภอทั้งผู้ใหญ่บ้านและยายมาให้บันทึกปากคำ ยังเหลือครูประจำชั้นที่ติดต่อไม่ได้เพราะเป็นช่วงปิดเทอม ต้องรอให้เปิดเทอมก่อนซึ่งผู้ใหญ่บ้านรับปากว่าจะเป็นธุระจัดการเรื่องนี้ต่อจนแล้วเสร็จ ในที่สุดความฝันของอัญชลีก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว แม้หนทางไปสู่ความฝันจะยังอีกยาวไกลนัก และฉันก็ไม่รู้ว่าเธอจะพาตัวเองไปให้ถึงฝันได้หรือไม่ แต่ณ.วันนี้ฉันจะเดินไปกับเธอและจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ให้สมกับที่อัญชลีเชื่อมั่น ศรัทธาและใฝ่ฝันอยากจะเป็น “พยาบาล”

Leave a Reply