เรื่องเล่าความดี54

เรื่องเล่าความดี-ป้าบุบผา….เยียวยาด้วยใจ

ป้าบุบผา….เยียวยาด้วยใจ

ผู้เขียน : น.ส. สิริอาภรณ์ ธนางทิพย์กุล

ผู้ส่ง : แผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลมวกเหล็ก

เช้าวันนี้เป็นวันที่คนไข้เยอะเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ทุกคนวิ่งวุ่นกันตั้งแต่แปดโมงเช้าจนกระทั่งตอนนี้…….11.00 น. ฉันก็ยังคงวิ่งไปมาจนตัวเองยังปวดหัว ตอนนั้นฉันรู้สึกเหนื่อยมากแต่เมื่อมองไปยังทุกคนก็เห็นว่าทุกคนก็เหนื่อยเหมือนๆกันกับเราแต่ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนสิ่งที่ไม่เคยหายไปจากใบหน้าทุกคนก็คือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ นั่นคงเป็นสาเหตุว่าทำไมฉันยังคงทำงานได้อย่างมีความสุขจนกระทั่งตอนนี้ ….แต่แล้วไม่นานก็มีคนไข้ซึ่งเป็นเคสใหม่คนหนึ่ง(ป้าผิน นามสมมุติ)ตะโกนขึ้นมาว่า “โอ๊ย…รอนานแล้วนะ นี่ตกลงเมื่อไหร่จะได้ทำเนี่ย นี่ถ้าปวดมากไม่ต้องรอจนคนไข้เดี้ยงไปเลยรึยังไงเห๊อะหมออออ” หลังจากจบประโยคเสียงหัวเราะของทุกคนในห้องก็เงียบลงทันที สักพักหนึ่งก็มีเสียงคุณป้าคนหนึ่งซึ่งเป็นเคสที่เพิ่งมาใหม่เช่นกันพูดขึ้นมาว่า “โอ๊ย…หมอเขาก็ยุ่งเหมือนกันนะป้ามาๆเดี๋ยวฉันช่วยดูให้แทน แล้วก็เดินมาบอกกับฉันว่าเดี๋ยวป้าช่วยถามอาการเขาให้นะ ไม่เป็นไรนะหมอ สักพักคุณป้าก็เดินเข้ามาบอกฉันระหว่างอัลตราซาวน์คนไข้
ป้าบุบผา : นี่หนะหมอป้าคนตะกี้แกปวดหลังตรงนี้(แล้วชี้ให้ดู) เป็นมาอาทิตย์กว่าแล้ว แล้วพอปวดหลังแกก็ปวดขึ้นคอ ปวดคอแล้วก็จะปวดหัว บางครั้งก็ปวดบ่า ไหล่ก็ยกไม่ขึ้น เป็นทั้งตัวเลยหละเนี่ยหมอ…(ฟังเสร็จแล้วฉันถึงเลือกไม่ถูกเลยทีเดียวว่าจะรักษาอะไรก่อนดี)
พลอย (ตะโกนถามคุณป้า) : แล้วป้าผินทำงานอะไรจ๊ะ
ป้าผิน : โอ๊ย..จะไปทงทำอะไรไหวหละหมอ ปวดจะตายอยู่แล้วเนี่ย (อึ้ง O-o) – สงสัยเราใช้คำถามผิดไปเอง
พลอย : แล้วป้าปวดตรงไหนมากที่สุดหละค่ะวันนี้จะได้รักษาให้ก่อนนะค่ะป้า วันนี้คนไข้เยอะมากเลย
ป้าผิน : โอ๊ยมานก็ปวดหมดแหละ บอกไม่ได้หรอกว่าตรงไหน (อึ้ง O-o อีกรอบ) สงสัยต้องเงียบแล้วเรา
หลังจากป้าบุบผาได้ยินคุณป้าก็รีบวิ่งมาหาแล้วบอกว่าไม่เป็นไรๆ เดี๋ยวป้าไปคุยก่าป้าผินแกเอง หลังจากฉันกำลังง่วนรักษาเคสอื่นๆไปร่วม 30 นาที ฉันก็เดินมาหาป้าผินอีกครั้ง (เดินไปด้วยความเกร็งว่าจะโดนอะไรอีกไหมเรา) แต่ผิดคาดเมื่อฉันเดินไปถึงป้าผินกลับนั่งยิ้มแย้ม หัวเราะกับป้าบุบผา พอฉันถามว่าเป็นไงบ้างตกลงป้าปวดตรงไหน ป้ากลับบอกฉันว่า “เอ่อ…ไม่ค่อยปวดแล้วหมอ เนี่ยอยู่ดีๆมันก็เบาปวดเอง วันนี้คนไข้เยอะ เดี๋ยวฉันเตลิดกลับบ้านก่อนนะหมอ เดี๋ยวหมอก็ค่อยนัดป้ามาวันหลังก่อนก็ได้ วันนี้คนไข้เยอะแล้ว” ฉันถึงกับงง อ้าวตะกี้ป้าบอกปวดมากทนไม่ไหว พอพูดจบป้าผินก็หันไปหัวเราะกับป้าบุบผา ใบหน้าเดิมที่บึ้งตึงตอนนี้เปลี่ยนเป็นรอยยิ้มที่แทบจะมองเห็นฟันทุกซี่ เสียงหัวเราะของป้าสองคนพลอยทำให้คนไข้อื่นๆที่นั่งข้างๆเข้าร่วมวงสนทนาและหัวเราะไปด้วย ตอนกลับแกบอกว่าแกมีความสุขที่ได้คุยกับทุกคน แกไม่ค่อยปวดเหมือนเดิมแล้ว
หลังจากแกไป ป้าบุบผาเดินมากระซิบบอกฉันว่า “ป้าผินแกเครียดลูกแกหนีออกจากบ้าน สามีแกก็ไปมีเมียน้อย ตอนนี้แกเครียดมากอยู่บ้านกับหลาน หลานก็ต้องออกไปทำงานค่ำถึงจะกลับ แกเลยต้องอยู่บ้านคนเดียว นี่ป้าก็พยายามพูดให้กำลังใจแกอยู่ เดี๋ยวแกมารอบใหม่หมอนัดป้าตรงกับแกด้วยนะ ป้าจะได้นั่งคุยกับแกอีก แล้วป้าก็อธิบายประวัติอื่นอีกยาวเหยียด”
สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือคำถามที่ฉันได้ถูกเรียนมาทุกคำถามป้าบุบผาถามได้อย่างครบถ้วน แต่น่าแปลกคำถามบางอย่างที่ควรถามฉันกลับไม่เคยคิดจะถามมาก่อน ก่อนหน้านี้ฉันรู้แต่เพียงว่าฉันต้องถามคำถามนี้เมื่อเจอโรคนี้ แต่คำถามบางอย่างที่ควรถามฉันกลับลืมที่จะถาม ฉันถามป้าว่าทำไมป้าถึงรู้ว่าต้องถามอะไรบ้าง ป้าบอกฉันว่า “ป้าไม่รู้หรอกว่าต้องถามยังไงเพราะป้าไม่ได้เรียนสูงนะหมอ ป้าก็ถามเขาตามความรู้สึกของป้านั่นแหละ” ฉันถามป้าต่อว่า “ความรู้สึกอะไรเหรอค่ะป้า ป้าตอบว่า“ก็ความรู้สึกสงสารและเป็นห่วงเขายังไงหละหมอ ถ้าเราเป็นแบบนั้นเราจะรู้สึกยังไง ป้าก็ถามเขาตามนั้นนั่นแหละ”หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาฉันก็ได้เรียนรู้
ว่าบางครั้งเครื่องมือแพงๆที่ใช้รักษาคนไข้ ยังไม่ได้ผลเท่ากับการนั่งคุยกับคนไข้แค่ 5นาที ป้าบุบผาไม่ได้ใช้เครื่องมือหรือความรู้พิเศษอะไรเลย แต่ทำไมคนไข้ดีขึ้น?? มันคือคำถามที่ฉันต้องกลับมานั่งคิด……
หลายครั้งกับการรักษาที่ใช้แค่ตามอง สมองคิด จนทำให้ฉันลืมบางอย่างที่สำคัญคือการรักษาด้วยจิตใจความเป็นมนุษย์ เมื่อไหร่เราใช้ตามองเราจะเห็นแต่ภายนอก ความคิดที่ถูกล้อมกรอบด้วยมาตรฐานวิชาชีพ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราใช้ทั้งตาและใจมองคนไข้เราจะเห็นว่าจริงๆมีอะไรอีกหลายอย่างที่บางครั้งไม่ต้องเรียนมาก็รักษาให้ได้ การรักษาใจเป็นอะไรที่ใครๆก็ทำได้ หลายครั้งที่เราเองพบว่าเมื่อเราหยุดพูด หยุดคิด แล้วปล่อยตัวเองสักพักเราจะได้ยินหัวใจเราพูดบอกความต้องการของตัวเอง เช่นกันเมื่อไหร่ที่เราต้องการฟังหัวใจคนอื่นเราก็ต้องพูดน้อยลง ใช้หัวใจฟังเขาให้มากขึ้น …… ทุกวันนี้หากมีใครถามว่ารักษาคนไข้ยังไงคนไข้ถึงดีขึ้น ฉันจะบอกคนเหล่านั้นเสมอว่า “ถ้าเราให้ใจคนไข้ ต่อให้รักษาแบบไหนคนไข้ก็ดีขึ้น”

สิริอาภรณ์ ธนางทิพย์กุล
นักกายภาพบำบัด

เรื่องเล่าความดี-ฉันตายไม่ได้

“ฉันตายไม่ได้”

นางสีนวน   พรหมศร

กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวชุมชนและบริการปฐมภูมิ รพ.มวกเหล็ก

เรื่องเล่าของคุณป้าคนหนึ่งซึ่งทางงานเยี่ยมบ้านได้รับใบ บส. จาก รพ. สระบุรีให้ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยSTROKEรายหนึ่งเมื่อ team เข้าไปในบ้านก็ต้องตกใจตลึงกับภาพที่เห็นหัวเตียง 2 เตียงชนกันรายแรกเป็นผู้สูงอายุที่STROKEมาเมื่อ 5 ปีแล้วทางteam เคยดูแลอยู่แต่อยู่บ้านอีกหลังหนึ่งช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยพูดคุยรู้เรื่องไม่มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่งย้ายเข้ามา และอีกเตียงหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับใบ บส. ให้ไปเยี่ยมบ้านข้าง ๆ เตียงทั้ง 2 เตียงมีหญิงชราวัย 76 ปีนั่งหน้าเศร้าอยู่อีก 1 คนข้าพเจ้าจึงเข้าไปพูดคุยกับหญิงชราคนนั้นและให้ team เยี่ยมผู้ป่วยทั้ง  2 ราย

เมื่อการสนทนาเริ่มขึ้น ; หญิงชราเริ่มเล่าด้วยใบหน้าเสร้าหมองน้ำตาเริ่มเอ่อในตาทั้ง 2 ข้างว่า: สิ่ง. มุติรอบครัวของเที่ไม่คาดฝันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดกับครอบครัวของเราเป็นคำพูดทั้งน้ำตาของป้าสม(อยู่นามสมมติ)เมื่อ 5 ปีก่อนสามีป่วยด้วยโรคอัมพฤกอัมพาตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่กับลูกสาวช่วยกันดูแลมาตลอดเพราะลูกสาวไม่ได้ทำงานเป็นแม่บ้านและขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่บ้าน 3 ปีต่อมาสามีของลูกสาวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้และต้องได้รับการผ่าตัดลำไส้ออกมาทางหน้าท้องลูกสาวจึงต้องแบ่งเวลามาดูแลสามีแต่ก็ยังต้องช่วยดูแลพ่อที่ป่วยด้วยแต่ยายก็เกรงใจลูกสาวจึงคอยดูแลตาด้วยตัวเองตอนนั้นก็เริมเหนื่อยมากขึ้น…………(ป้าน้ำตาไหลพราก)……อยู่มาวันหนึ่งลูกสาวแขนขาอ่อนแรงพูดไม่ชัดปวดศีรษะอาเจียนและนิ่งไปป้าตกใจมากขณะนั้นไม่มีใครอยู่บ้านเลยจึงวิ่งไปเรียกเพื่อนบ้านให้พาไปส่งโรงพยาบาลมวกเหล็ก ..(ลูกสาวไม่เคยป่วยและไม่เคยตรวจสุขภาพเลย)..ไปถึงโรงพยาบาลหมอออกมาบอกว่าต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ตั้งแต่วันนั้นป้าไม่เคยได้หลับตาลงเลยเฝ้าแต่คิดว่านี่มันเป็นเวรกรรมอะไรกันนักหนาจนกระทั่งลูกออกจากโรงพยาบาลลูกสาวคนโตได้รับทั้ง 2 คนมาไว้รวมกันโดยจัดหาสถานที่และเตียงมาให้อย่างที่หมอเห็นนี่แหละเวลากลางวันเขาไปทำงานกันหมดฉันคนเดียว ทั้งทำกับข้าวให้ตา อาบน้ำเช็ดตัวกว่าจะเสร็จก็เริ่มเหนื่อยนั่งพักเดี๋ยวนึงก็เริ่มมาช่วยเช็ดตัวให้ลูกสาวตัวก็ใหญ่มากกว่าจะเสร็จก็สายแล้วมากรอกอาหารใส่สายางให้เสร็จแล้วฉันค่อยมากินข้าวและกินยาความดันบางครั้งเสร็จจากคนป่วยก็ปวดหัวเวียนหัวต้องนั่งพักหรือนอน “

              หลังจากนั้นมาวางแผนงานเยี่ยมบ้านทุกอาทิตย์ ๆ ละ1ครั้งเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระผู้ดูแลโดยการช่วยฟื้นฟูสภาพลูกสาวที่ STROKE ล่าสุดก่อน โดยการสอนลูกผู้ป่วยเรื่องการทำกายภาพบำบัดให้ขณะกลับจากโรงเรียน   1 เดือนผ่านไปก็เริ่มให้ฝึกกลืนนำแข็งเพื่อจะได้ไม่ต้องกินอาหารทางสายยางประมาณ 1 อาทิตย์ก็สามารถถอดสายยางออกได้และแขนขาข้างซ้ายเริ่มใช้การได้แต่ข้างขวายังอ่อนแรงอยู่จึงคิดทำนวตกรรมให้เพื่อแบ่งเบาภาระป้า ตอนแรกคิดแล้วให้ญาติทำแต่ผ่านไป 2 อาทิตย์ก็ยังไม่ได้ทำจึงคิดแบบและให้  คุณพูนทรัพย์ไปทำให้โดยใช้รอกผูกติดกับเหล็กยึดติดกับผนังใช้เชือกสอดใส่แล้วใช้ผ้าผูกที่ขาให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองโดยการใช้แขนข้างที่ดีดึงเชือกอกกำลังกายเองให้คุณป้ามีหน้าที่แค่นำผ้าไปผูกที่ขา และแขนให้   แต่การไปเยี่ยมแต่ละครั้งคุณป้าก็ยังมีท่าทางของการซึมเศร้าอยู่จึงวางแผนการให้เยี่ยมคุณป้าอย่างจริงจังขึ้นเพราะยิ่งนานวันถึงแม้ว่าเราจะแก้ปัญหาไปบางเรื่องแต่ก็ไม่อาจหมดไปได้

 เราจึงพูดคุยกับป้ามากขึ้นเพื่อหาปัญหาและ ให้ป้าผ่อนคลาย ตรวจสุขภาพวัดความดันและรับยาไปส่งให้ที่บ้านไม่ต้องกังวลเรื่องการมารับยา   วางแผนให้ อสม.ใกล้บ้านไปเยี่ยมเยียนพูดคุยให้ป้าดีใจสดชื่นขึ้นยิ้มแย้มมากขึ้นออกมานั่งคุยนอกบ้านมากขึ้น………2-3 เดือนต่อมาป้าเริ่มซึมเศร้าอีกไปเยี่ยมแต่ละครั้งป้าพูดน้อยลงนอนขดอยู่ที่เตียงเศร้าซึมแล้วบ่นว่า ‘เหนื่อยจังกลางคืนก็นอนไม่หลับ ไม่รู้มันเวรกรรมอะไรของฉัน’ ทำให้ต้องวางแผนหาสาเหตุต่ออีกว่าป้าเริ่มเครียดเรื่องอะไรหลังจากพูดคุยไปสักระยะหนึ่งป้าก็เริ่มบอกว่า”วัดวาไม่ได้ไปกับเขาเลยบุญไม่ทำกรรมมันเยอะแท้”หลังจากนั้นมาเราก็พบว่าผู้สูงอายุจะขาดเรื่องของการทำบุญไม่ได้  ทางTEAMก็เลยนัดพบกับญาติเพื่อหาวันที่ญาติหยุดงานหรือเวลาว่างเพื่อพาป้าไปวัดทำบุญหรือตักบาตรตอนเช้าไม่รู้มันเวรกรรมอะไนของฉันับบ่นว่า  เมื่อนัดกับญาติได้แล้วทำความเข้าใจกับญาติว่าวันจันทร์-ศุกร์ให้ช่วยป้าได้ใส่บาตรอย่างน้อย 3วัน และวันเสาร์-อาทิตย์ให้พาป้าไปวัดที่ป้าอยากไปและเที่ยวพักผ่อนบ้างหรือถ้าวันพระตรงกับวันหยุดก็ให้พาป้าไปทำบุญที่วัดนอกจากป้าจะได้ทำบุญแล้วป้ายังได้คุยกับเพื่อนบ้านเพื่อนวัยเดียวกันปัจจุบันป้าสีหน้าสดชื่นขึ้นยิ้มแย้มพูดคุยมากขึ้นนอนหลับได้ดีขึ้น  เมื่อเราไปเยี่ยมบ้านเรารู้สึกมีความสุขที่เห็นป้านั่งยิ้มและส่งเสียงทักทาย “หมอแหม่มมาแล้ววันนี้มากันเยอะแยะเลยวันนี้งานป้าเสร็จเร็วหลานช่วยตั้งแต่เช้าเขาให้ป้าไปคอยใส่บาตรเดี๋ยวนี้ได้ใส่บาตรเกือบทุกวันเลย ป้าชอบใส่บาตรใส่แล้วป้าสบายใจ วันหยุดป้าก็ได้ไปนะหมอลูกเขาพาไป” พวกเราดีใจมากเสมือนเราได้ทำบุญครั้งยิ่งใหญ่และเป็นพลังเป็นกำลังใจสำหรับการทำงานเยี่ยมบ้านของเราต่อไปและไม่มีวันไหนที่เราจะท้อเลยและยิ่งดีใจที่เมื่อเราพบหน้ากันในTEAMเราทุก ๆเช้าน้อง ๆ ก็จะถามว่าวันนี้เราจะไปเยี่ยมบ้านใครก่อนดี น้อง ๆไม่เคยปฏิเสธคนไข้ไม่ว่าจะร้องขอมาแบบไหนทางโทรศัพท์หรือจะเดินเข้ามาหาด้วยตัวเอง

               ขอขอบคุณพี่น้องโรงพยาบาลแพทย์พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ทุกคนทุกจุดที่ให้ความสะดวกกับทีมของเราเมื่อเรามาประสานงานหรือร้องขอความช่วยเหลือทุกครั้งสิ่ง ดี ๆแบบนี้ทีมเราดีใจที่มีอยู่ในโรงพยาบาลของเรา

เรื่องเล่าความดี-ความฝันของอัญชลี

ความฝันของอัญชลี

       ชมภูนุช เศรษฐผล

โรงพยาบาลมวกเหล็ก จ.สระบุรี

                 “ พี่  วันนี้ว่างมั๊ย ไปเยี่ยมคนไข้กับผมหน่อย ” เสียงจากน้องสสอ.ดังมาตามสายในบ่ายของวันหนึ่ง ข้อมูลที่ฉันได้รับขณะนั่งรถไปด้วยกันคือ เด็กหญิงอัญชลีป่วยไปตรวจที่รพ.แพทย์ส่งตรวจAnti HIV ผลPositive แพทย์แจ้งผลกับน้าของเด็ก แล้วนัดตรวจซ้ำ แต่ผู้ป่วยไม่ไปตรวจตามนัด รพ.จึงประสานให้สสอ.ติดตาม เมื่อไปที่โรงเรียนที่เด็กเรียนหนังสืออยู่เป็นเวลาใกล้เลิกเรียน เด็กๆนั่งรวมกลุ่มกันอยู่ที่สนามหญ้า เมื่อแนะนำตัวกับครูประจำชั้น ป4.และชี้แจงว่ามาติดตามเด็กที่ไม่สบาย  ครูมีสีหน้าแปลกใจเล็กน้อยพร้อมกับเรียกเด็กออกมาจากกลุ่ม ภาพเด็กหญิงที่ฉันเห็น เป็นเด็กรูปร่างผอม ผิวคล้ำ ตามแขน ขาสองข้างมีตุ่มใสๆ หน้าตาไม่สดใสเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน หลังจากสอบถามสาเหตุที่ไม่ได้ไปตรวจตามนัด เด็กหญิงบอกว่าอยู่กับยายสองคน ไม่มีคนพาไป ยังมีอาการไอ เหนื่อยมาก ไม่มีแรง เมื่อขอให้พาไปหายายที่บ้าน  ครูแจ้งว่ายายไม่ค่อยอยากให้ใครไปที่บ้าน แต่ฉันก็คะยั้นคะยอจนเด็กหญิงยอมพาไปบ้าน เมื่อพบกับยายและได้พูดคุยกัน ยายมีท่าทางไม่ยินดีที่จะให้เราไปเยี่ยมอีก และปฏิเสธที่จะพาเด็กไปรักษา โดยยายบอกว่าพ่อแม่เด็กเป็นเอดส์ตาย เด็กก็คงอยู่ได้ไม่นาน กลัวชาวบ้านจะรู้แล้วรังเกียจตนเอง ฉันจึงให้ข้อมูลเรื่องโรค การติดต่อ และยาต้านไวรัส ก่อนกลับฉันขออนุญาตยายมารับเด็กหญิงไปตรวจเลือดเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง โดยฉันจะมารับเด็กด้วยตนเองในวันจันทร์

                เมื่อถึงวันนัดฉันไปรับดญ.อัญชลี ด้วยรถรพ.จากการสอบถาม พูดคุย อัญชลี บอกกับฉันว่าตั้งแต่กลับจากรพ.ยายรู้ว่าเป็นเอดส์ ยายก็ไม่ให้นอนด้วย ให้กางมุ้งนอนต่างหาก ไม่ให้กินข้าวรวมกับยาย อัญชลีมักจะไปอยู่กับเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันและไม่รังเกียจเมื่อรู้ว่าอัญชลีติดเชื้อเอดส์ ส่วนอาการป่วยทำให้เหนื่อย ไอบ่อย ครูไม่อยากให้ไปรร.กลัวแพร่เชื้อให้เพื่อน เมื่อถึงรพ.ผลการตรวจยืนยัน อัญชลีติดเชื้อเอดส์ และตรวจไม่พบวัณโรค ฉันกลับไปส่งอัญชลีพร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนในการรักษาให้ยายฟัง ยายบอกว่าต้องขออนุญาตน้าของอัญชลีก่อนว่าจะให้รักษาหรือไม่ แต่น้าอยู่อีกอำเภอ นานๆจะมาสักครั้ง ต้องรอก่อน ฉันจึงต้องกลับมาพร้อมกับความหวังว่าน้าจะให้ความร่วมมือและยินยอมให้อัญชลีเข้ารับการรักษาโดยเร็ว หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ฉันได้รับการติดต่อจากเพื่อนบ้านของยาย ที่ฉันให้เบอร์ติดต่อไว้ ว่าน้าให้อัญชลีเข้ารับการรักษาได้แต่ฉันต้องเป็นผู้รับผิดชอบการมารับมาส่ง ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะเด็กไม่มีบัตรใดๆทั้งสิ้น ฉันตอบตกลงทันทีและนัดวันไปรับเด็กเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา จนในที่สุดอัญชลีได้เริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในโครงการ NAPHA EXTENSION โดยทุกครั้งที่มารับยา ฉันจะเป็นคนขอรถรพ.ไปรับและไปส่ง ส่วนการกินยาฉันให้นาฬิกาปลุกไป 1 อันเพื่อให้ดูเวลา และเน้นให้กินยาตามเวลาที่กำหนด จากการสอบถามอัญชลีพยายามกินยาตามเวลา แต่บางครั้งอาจมีเลยเวลาไปบ้างแต่ไม่บ่อย ซึ่งเมื่อประเมินจากสภาพร่างกายแล้ว อาการไอน้อยลง น้ำหนักเพิ่มขึ้น ตุ่มคันตามตัวยุบลง แต่ปัญหาใหม่ที่ฉันพบเมื่อฉันถามอัญชลีว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เด็กหญิงบอกว่า “หนูอยากเป็นเหมือนป้า (พยาบาล) แต่หนูคงไม่ได้เรียนแล้วเพราะครูบอกว่าหนูไม่มีบัตรประชาชน  ทุกวันนี้ที่ได้เรียนเพราะครูสงสาร” ฉันลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท เพราะตอนนั้นคิดแค่ว่าให้เด็กได้รับยาก็พอใจแล้ว หลังจากนั้นฉันจึงเริ่มต้นโดยโทรไปขอสำเนาใบสูติบัตรที่รพ.ราชวิถี ที่แม่ของอัญชลีไปคลอด ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถค้นประวัติให้ได้เพราะเกิน 10 ปี ประวัติถูกยกเลิกไปแล้ว เมื่อปรึกษาไปที่ที่ว่าการอำเภอ จนท.ยืนยันว่าต้องใช้ใบเกิดมาแจ้ง เมื่อไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหนได้ ฉันเริ่มคิดหาช่องทางใหม่ โดยไปปรึกษา สาธารณสุขอำเภอเพื่อให้ช่วยประสานขอคำแนะนำจากนายอำเภอเรื่องใบเกิดของเด็ก

                2 เดือนผ่านไปฉันได้รับข่าวดี เมื่อสสอ.แจ้งว่านายอำเภอให้พาเด็กมาทำเรื่องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านได้แต่ต้องมีผู้ใหญ่บ้าน ครูประจำชั้น ยายที่อยู่กับเด็ก และบุคคลที่เชื่อถือได้มาให้บันทึกปากคำที่อำเภอด้วย เหมือนเช่นเคยที่ฉันต้องไปพบกับยายที่บ้าน เพราะอัญชลีบอกฉันว่ายายไม่ยอมไปให้บันทึกปากคำที่อำเภอ ยายบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องของยาย ฉันไปขอร้องยายให้เห็นแก่อนาคตของเด็กในเรื่องการเรียนและสิทธิอื่นๆที่จะได้รับถ้ามีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อนบ้านยายก็ช่วยกันขอร้อง ฉันรับปากว่าจะหารถมารับยายไปอำเภอเมื่อยายพร้อม ยายจึงตอบตกลงแบบไม่ค่อยเต็มใจ แต่แค่นี้ฉันก็ดีใจแล้ว ส่วนผู้ใหญ่บ้านเต็มใจที่จะไปให้ปากคำเพราะเคยเห็นอัญชลีมาตั้งแต่เกิด เมื่อถึงวันนัดที่อำเภอทั้งผู้ใหญ่บ้านและยายมาให้บันทึกปากคำ ยังเหลือครูประจำชั้นที่ติดต่อไม่ได้เพราะเป็นช่วงปิดเทอม ต้องรอให้เปิดเทอมก่อนซึ่งผู้ใหญ่บ้านรับปากว่าจะเป็นธุระจัดการเรื่องนี้ต่อจนแล้วเสร็จ ในที่สุดความฝันของอัญชลีก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว แม้หนทางไปสู่ความฝันจะยังอีกยาวไกลนัก และฉันก็ไม่รู้ว่าเธอจะพาตัวเองไปให้ถึงฝันได้หรือไม่ แต่ณ.วันนี้ฉันจะเดินไปกับเธอและจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ให้สมกับที่อัญชลีเชื่อมั่น ศรัทธาและใฝ่ฝันอยากจะเป็น “พยาบาล”

เรื่องเล่าความดี–ยายทรัพย์

ยายทรัพย์

ภก.วิฑูรย์ ชัยธีราศักดิ์
งานเภสัชกรรม รพ.มวกเหล็ก

      “สวัสดีครับคุณยายทรัพย์”  เสียงนุ่ม ๆ เรียกทักทายคุณยายวัยเกือบเจ็ดสิบปี  ซึ่งกำลังนั่งทอดสายตาแบบเหงา ๆ  ดูอะไรต่อมิอะไรบนท้องถนนหน้าบ้านของแก  โดยที่มีหลานสาวก็สาละวนกับการขายของชำในร้าน  วันนี้เภสัชกรหนุ่มวัยกลางคน  มาออกพื้นที่  หลังจากเสร็จภารกิจงานบริการในตอนเช้าแล้ว  ตอนบ่ายก็เลยพาทีมงานออกเยี่ยมบ้าน   เมื่อได้ปรึกษาหมอบุญเรือน หมอประจำ รพ.สต. ซับสนุ่น  ขอเลือก ยายทรัพย์  งามละมัย   เนื่องจากคุณยายไม่ได้มารับยาเองหลายเดือนแล้ว  ให้แต่ลูกสาวมารับยาแทน  หญิงชราที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง  ทั้งเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเส้นเลือด  และยังมีแถมด้วยกึ่งๆอัมพฤกษ์   แกก็โบกมือทักทายแล้วก็ถาม  “หมอหายไปไหนมา  ไม่เห็นตั้งนาน”   แกถามกลับเพราะไม่เห็นเภสัชกรหนุ่มคนนี้มาให้บริการที่ รพ.สต.ซับสนุ่นนานมากแล้ว   “ผมต้องไปทำงานด้านอื่น  ตรวจโรงงาน ตรวจตลาด  สอนอสม.  นักเรียนอย.น้อยครับ  เลยให้หมอจ่ายยาสาว ๆ มาแทน”  เภสัชกรตอบคุณยาย    คุณยายทรัพย์  พักอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นร้านขายของชำของลูกสาวซึ่งมีหลานสาวคอยให้ความดูแล  ทั้งการจัดยาให้รับประทานและอื่น ๆ   

 หลังจากทักทายกันพอหอมปากหอมคอ  เภสัชกรหนุ่ม  ก็ซักถามถึงอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่   และปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา   ก็สรุปได้ว่า  คุณยาย  มีระดับน้ำตาลและความดันโลหิตที่อยู่ในเกณฑ์ไม่สูงมากนัก  ควบคุมได้ดี  การรับประทานยาถูกต้อง  ตรงตามที่แพทย์สั่งเนื่องจากมีคนดูแลใกล้ชิด   แต่คุณยาย  มีปัญหาสำคัญคือ  เหงาและอัมพฤกษ์   เหงาเพราะคิดถึงลูกสาวคนเล็ก  ซึ่งอยู่คนละบ้าน  ทุกๆวันคุณยาย  ก็จะมานั่งรถเข็นที่หน้าบ้าน  ทอดสายตาออกไปที่ท้องถนนอย่างเศร้า  ๆ     ดูรถที่วิ่งผ่านไปมา  เมื่อมีอาการเบื่อ  ก็จะกลับเข้าไปนอนที่เตียงซึ่งตั้งไม่ไกลออกไปนัก   เป็นอย่างนี้ประจำทุกๆ วัน  เลยดูเหมือนจะเป็นวิถีประจำของหญิงชราคนนี้

      เภสัชกรหนุ่มก็เลยหันไปปรึกษาทีมงาน ซี่ง วันนี้มีกายภาพบำบัดสาวน้อย ชื่อ “พลอย” พร้อม น้องที่ห้องอีกคน เมื่อหมอพลอย ได้ทักทายคุณยาย และตรวจสภาพร่างกายของคุณยายก็พบว่าแขนขามี กำลังดีมาก แต่เนื่องจากคุณยายไม่อยากที่จะยืนหรือ เดิน ทำให้กล้ามเนื้อเริ่มมีอาการอ่อนแรงลง พร้อม จะเป็นอัมพฤกษ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หมอพลอยก็ เลยถามคุณยาย “คุณยาย อยากเดินได้อีกไหมค่ะ”

     

 แกก็ยิ้มให้หมอแล้วก็พยักหน้าเล็กน้อย  ในสายตามี อาการตื่นเต้น  ซึ่งหมอก็คงสังเกตเห็น  “จริงๆนะ
ถ้าคุณยายได้มีการออกกำลังอย่างถูกวิธี  และทำเป็นประจำบ่อย ๆ หมอรับรองว่า  คุณยายต้องเดินได้อย่างแน่นอน  หมอพลอยก็สำทับอีกครั้ง  ขณะเดียวกันนั้นเอง  หลานสาวคุณยาย  ก็ผสมโรง  “คุณหมอ  ยายแกไม่อยากจะทำอะไรเลย  อยากนอนแล้วก็นั่งรถ  ให้ทำอะไรก็ไม่อยากทำ  แกคิดถึงแต่ลูกสาวแกอีกคน”     

      เมื่อคุณยายใช้สายตาตอบรับคำเชิญชวนของหมอพลอยแล้ว เธอก็เริ่มสอนคุณยายทำกิจกรรมการออกกำลังด้วยรูปแบบต่าง ๆ ตามที่เธอได้ร่ำเรียนมา โดยมีน้องทีมงานอีกคน เป็นผู้ช่วย ซึ่งไม่ง่ายเลยที่ ผู้หญิงรูปร่างบอบบาง สองคน จะมีพละกำลังมากมาย ที่จะพาคุณยาย ในการพยายาม เคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่ค่อยจะมีแรง อีกทั้งน้ำหนักตัว คุณยายก็ไม่น้อยเลย ในขณะที่ทั้งสามคนกำลังเพลินอยู่ กับท่าการออกกำลังกายตามหลักวิชาการ เภสัชกรหนุ่ม
ก็หันไปคุยกับหลานสาวคุณยาย เพื่อซักถามถึงเรื่องราว อื่น ๆ ทั้งด้านอาการการกิน ความเป็นอยู่ รวมทั้งเรื่อง ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ เช่น อาหารเสริม ซึ่งเป็น เรื่องโดยตรงตามวิชาชีพของเภสัชกร

      

หลังจากทีมงานสนุกสนานในการทำกิจกรรมกับ ยายทรัพย์อยู่พักใหญ่ เป็นเวลาเกือบชั่วโมง เภสัชกรหนุ่ม ก็รู้สึกถึงการตอบรับของคุณยายทรัพย์ งามละมัย เป็นไป ในทางที่ดีว่า คุณยายดูร่าเริงขึ้น ยอมรับ ให้ความร่วมมือ มากขึ้น ในการที่จะฝึกให้ร่างกายของแกให้กลับมามีพลัง พร้อมที่จะเดินเหินได้อีกครั้ง

ก่อนจากกันในวันนั้น พวกเราลาคุณยายกลับอย่าง มีความสุข ด้วยเสียงหัวเราะของทุก ๆ คน ถึงแม้อากาศจะ
ร้อนอบอ้าว ร่างกายเต็มไปด้วยเหงื่อที่ไหลออกมาในขณะที่
ทำกิจกรรมร่วมกับคุณยาย

ยายทรัพย์ งามละมัย ก็คงจะนั่งรถเข็นหรือนอนอยู่ ในบ้านหลังนี้ไปอีกหลายเดือนหลายปี แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ได้ดี ก็คือ วันนี้สายตาของคุณยาย คงไม่ได้นั่งมองรถแบบเหงา ๆ เหมือนที่เคยทำ แต่มันมีประกายแห่งความหวังหรือความสุข รอยยิ้มที่เราได้เห็น เสียงพูดเบา ๆ ที่เป็นคำมั่นสัญญาจากคุณยาย ว่าพวกเราจะร่วมมือกันที่จะทำให้คุณยายเดินได้อีกครั้ง มันคงทำให้คุณยายทรัพย์ งามละมัย มีกำลังใจที่จะอยู่ร่วมกับลูกหลาน และมีคุณภาพชีวิตที่ยอดเยี่ยม ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่

เรื่องเล่าความดี–เยียวยาระยะสุดท้าย …..ของชีวิต

เยียวยาระยะสุดท้าย …..ของชีวิต

นางสุพัฒนา แสงโชติ
งานผู้ป่วยใน รพ.มวกเหล็ก

      เช้าวันจันทร์ ดิฉันมารับเวรจากน้องว่ามีผู้ป่วย  stroke  นอนติดเตียง  เป็นอัมพาตครึ่งซีก  มีปัญหาด้านการกลืนและการพูด ใส่  NG tube  feed  อาหาร เจาะคอใส่ Trachecostomy  ใส่สาย  foley, cath ไว้ตลอด  แขน ขา ข้างซ้ายขยับไม่ได้  มีแผล  Bed  sore ที่ก้นกบ  มานอนAdmit  ด้วยเรื่อง  ติดเชื้อที่ปอด  ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ  หายใจเหนื่อยหอบมาก  ใช้กล้ามเนื้อหน้าอกหายใจเร็ว  34  ครั้งต่อนาที  ความดันต่ำมากต้องให้ยาเพิ่มความดันโลหิตไว้ตลอดมีญาตินั่งหน้าเศร้า(  สามี )  คอยดูแลอยู่ข้างเตียง   ( ผู้ป่วยcaseนี้ได้ใส่  ท่อช่วยหายใจ  2  ครั้งมาแล้ว )  หลังจากรับเวรดิฉันได้เข้า ไปสวัสดีสามีผู้ป่วยเข้าไปถามอาการทั่วไป  และในฐานะที่ดิฉันได้อบรม  Palliative  care  ได้เข้าไปให้การพยาบาล  ให้ข้อมูลกับญาติตลอดถึงความก้าวหน้าของอาการผู้ป่วย  และแพทย์อธิบายถึงการรักษาตามอาการและเรื่องใส่ท่อช่วยหายใจ  และปั้มหัวใจ  และญาติได้ปฏิเสธในการใส่ท่อช่วยหายใจ  เพราะสงสารภรรยามากและได้ใส่ท่อช่วยชีวิตมาแล้ว  แพทย์ได้ให้ญาติเซ็นต์ชื่อไว้ใน  Progress  note  เป็นหลักฐาน  สามีผู้ป่วยกลับมีสีหน้าโศกเศร้าตลอดเวลา  ดิฉันก็ได้เข้าไปพูดคุยให้กำลังสามีและลูกของผู้ป่วย  แนะนำให้นำเทปธรรมะมาเปิดให้ฟังตลอด  ให้สามีและลูกสลับกันพูดคุยแม้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้วแต่สามารถรับรู้ได้ยิน  ความดันโลหิตผู้ป่วยยังคงปกติ  จากได้รับยาเพิ่มความดันโลหิต  ปลายมือปลายเท้าเริ่มคล้ำดำ   หายใจใช้กล้ามเนื้อหน้าอกแรงมากขึ้น  ดิฉันได้ถามญาติว่าผู้ป่วยชอบทำบุญใส่บาตรหรือเปล่า  ญาติบอกว่าปกติแล้วชอบใส่บาตร  ดิฉันเลยบอกว่า  พรุ่งนี้วันพฤหัสนิมนต์พระมาบิณฑบาตในโรงพยาบาล  ให้จัดหาของไว้ให้ผู้ป่วยด้วยนะคะ  ญาติมีสีหน้าดีใจมาก

      วันพฤหัสซึ่งเป็นวันที่  3 หลังผู้ป่วยได้นอนโรงพยาบาลดิฉันได้เข้าไป เยี่ยมพบสามีและลูกได้เตรียมของใส่บาตร  สังฆทาน พระพุทธรูปประจำตัวของผู้ป่วย  สามีผู้ป่วยถามดิฉันตลอดว่าจะมีพระมาแน่นะครับ  ผมดีใจมากครับที่ภรรยาผมจะได้ใส่บาตร  ดิฉันก็รับปากว่ามาแน่คะและได้เห็นสภาพผู้ป่วยแล้วมีสีหน้าสดชื่น นอนลืมตา  หายใจเป็นปกติไม่หอบซึ่งเมื่อคืนญาติขอให้เอายาช่วยเพิ่มความดันออก  เอาสาย NG  Tube ออกไม่ขอให้อาหารกับผู้ป่วยดิฉันก็แปลกใจมาก    สายๆวันนั้นขณะที่ยุ่งกับงานแต่ก็ไม่ลืมที่จะให้  พขร.ไปรับพระมาเพื่อให้ผู้ป่วยใส่บาตร  ดิฉันก็นิมนต์พระมาเข้าห้องพิเศษที่ผู้ป่วยนอนพักอยู่  อธิบายให้หลวงพ่อเข้าใจกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย  หลวงพ่อท่านก็เข้าใจดีมีเมตตา  รับนิมนต์และท่องบทสวนมนต์ให้ยาวนานเป็นพิเศษ  เป็นภาพที่ดิฉันประทับใจมากคิดว่าผู้ป่วยและญาติมีความสุข  จึงรู้สึกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก  เหมือนทุกๆครั้งที่เราได้ช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นถึงแม้นจะเหนื่อยแต่ความเหน็ดเหนื่อยนั้นก็หายไปแบบปลิดทิ้งเมื่อเห็นรอยยิ้ม  หลายๆรอยยิ้มทั้งของญาติพี่ๆเพื่อนๆน้องๆผู้ร่วมงานทุกคน  เมื่อมีการเริ่มต้นก็จะมีครั้งต่อๆไปที่ดิฉันจะได้ทำให้ผู้ป่วยรายอื่นๆ

เมื่อพระบิณฑบาต ให้สินให้พรและออกจากห้องผู้ป่วยไปแล้ว  สามีผู้ป่วยหันมายกมือไหว้ขอบคุณดิฉันที่ทำให้ภรรยาเขาได้ทำบุญครั้ง……………คืนนั้นเวลาประมาณตีหนึ่งผู้ป่วยก็จากไปอย่างสงบ

เรื่องเล่าความดี–สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก

สิ่งเล็กๆที่เรียกว่า “รัก”

ชมภูนุช เศรษฐผล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
งานผู้ป่วยนอก รพ.มวกเหล็ก

      ภาพชายสูงอายุ ผิวคล้ำ รูปร่างผอมที่นั่งอยู่ตรงหน้า ทำให้ฉันนึกถึงผู้สูงอายุทั่วไปที่มีโรคประจำตัว และมักจะถูกส่งมาที่คลินิกเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องโรค การรับประทานอาหาร การปฏิบัติตน แต่สำหรับคุณลุงสิ่งที่ทำให้ฉันแปลกใจ เพราะแพทย์ส่งคุณลุงมาพบพยาบาลให้คำปรึกษาเพื่อตรวจหาเชื้อHIV หลังจากพูดคุยกับคุณลุงเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง คุณลุงยอมรับว่าระหว่างทำงานขับรถเมื่อ 10 ปีก่อน คุณลุงชอบเที่ยวและมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการบ้างเป็นครั้งคราว และทุกครั้งคุณลุงไม่เคยใช้ถุงยางอนามัย หลังการพูดคุยคุณลุงยอมตรวจเลือดเพราะอยากรู้ว่าตนเองป่วยเป็นอะไรกันแน่ เมื่อถึงวันนัดฟังผลเลือด คุณลุงมาพร้อมกับลูกสาว หลังจากฉันแจ้งผลเลือดว่าคุณลุงติดเชื้อเอดส์ คุณลุงก้มหน้านิ่ง ไม่พูดไม่จา บรรยากาศภายในห้องเงียบจนฉันได้ยินเสียงหัวใจของตัวเองเต้น เวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ฉันรอจนคุณลุงเงยหน้ามองฉัน ดวงตาฝ้าฟางคู่นั้นบอกความรู้สึกภายในใจคุณลุงได้ชัดเจนกว่าคำพูดใดๆ คำว่า”เสียใจ”คงน้อยเกินไปสำหรับความรู้สึกคุณลุงในขณะนั้น คุณลุงให้ฉันแจ้งผลเลือดแก่ลูกสาวที่มาด้วย และเมื่อฉันอธิบายขั้นตอนการรักษาทั้งคุณลุงและลูกสาวก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในทุกๆเรื่อง ภาพความห่วงใยที่ลูกสาวมีต่อพ่อทำให้ฉันรู้สึกดีใจที่คุณลุงมีคนที่เข้าใจและพร้อมจะดูแลคุณลุง สิ่งที่ฉันนึกถึงต่อไปคือภรรยาของคุณลุง จึงแนะนำให้คุณลุงพาภรรยามาตรวจการติดเชื้อด้วย เมื่อภรรยาคุณลุงมาตรวจเลือดก็พบว่าติดเชื้อเช่นกัน ทั้งคุณลุงและภรรยาจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาและเริ่มรับยาต้าน ปีแรกของการรับยาคุณลุงได้เข้ากลุ่ม ดูคุณลุงมีความสุข ทำให้ฉันวางใจและใช้เวลาส่วนใหญ่ในวันทำกลุ่มกับผู้ป่วยใหม่รายอื่นที่มีเข้ามาเรื่อยๆ จนเช้าวันหนึ่งฉันพบคุณป้านั่งอยู่ที่หน้าห้องฉุกเฉินด้วยท่าทางกระวนกระวาย ฉันเข้าไปสอบถามจึงทราบว่าคุณลุงนอนหมดสติอยู่ที่บ้าน คุณป้าซึ่งไปอยู่กับลูกสาวที่ต่างอำเภอกลับมาพบเข้าจึงนำส่งรพ. ผลจากการป่วยครั้งนี้ ทำให้คุณลุงซึ่งเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว เป็นอัมพาตของแขนขาซีกซ้าย จากการพูดคุยกับคุณป้าบอกว่าหลังจากลูกสาวรู้ว่าคุณลุงและคุณป้าติดเชื้อ ลูกสาวก็ให้คุณป้าไปอยู่ด้วย ส่วนคุณลุงอยู่ที่บ้านเดิมเพียงลำพัง ทุกวันคุณลุงจะขี่มอเตอร์ไซด์ไปที่วัดใกล้บ้าน ช่วยงานที่วัด คุยกับพระ บางวันคุณลุงก็นอนที่ศาลาวัด เพราะเหงา ไม่อยากกลับบ้าน ทำให้การกินยาทั้งยาลดความดันและยาต้านของคุณลุงไม่ต่อเนื่อง
      หลังจากคุณลุงเป็นอัมพาต คุณป้าต้องกลับมาอยู่ดูแลคุณลุงเพื่อช่วยเหลือทำกิจวัตรประจำวัน หุงหาอาหาร ช่วยออกกำลังแขน ขา เมื่อฉันและจนท.ชัณสูตรไปหาคุณลุงที่บ้านเพื่อนำยาไปให้ คุณลุงมีสีหน้าสดชื่น พร้อมกับเดินให้ดูว่าคุณลุงสามารถเดินได้ในระยะใกล้ๆ แขนข้างซ้ายยกได้ หยิบของได้ ทุกวันคุณลุงจะเดินเกาะราวไม้ไผ่ที่ลูกชายทำไว้ให้ โดยมีคุณป้าคอยช่วยเหลือ คุณป้าจะสระผมให้คุณลุงทุกวัน คุณลุงบอกว่าอยากได้ไม้เท้าไว้พยุงเดินและอยากได้รถสามล้อโยก จะได้ไปวัดบ้าง ฉันบอกคุณลุงว่า ถ้าคุณลุงแข็งแรงพอที่จะโยกรถได้ฉันก็จะพยายามหารถมาให้คุณลุง คุณลุงยิ้มกว้างบอกว่าจะพยายาม ฉันคิดว่าความสุขของคุณลุงน่าจะเกิดจากการได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่รัก คนที่เข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องบอกว่ารัก เช่นความรักของคุณลุงกับคุณป้าคู่นี้
      บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามความต้องการของผู้ป่วย เพราะความหวังดี ของเราเองและคนรอบข้าง ฉันจากคุณลุงมาพร้อมกับบทเรียนบทใหม่ที่ไม่มีในตำราใดๆ

เรื่องเล่าความดี–ลุงอยากมานวด

ลุงอยากมานวด

น.ส มัลลิกา บุตรดี
งานแพทย์แผนไทย รพ.มวกเหล็ก

      ดิฉันปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ที่อาคารแพทย์แผนไทย และมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ดิฉันรู้สึกประทับใจมาก
      วันหนึ่งมีผู้ป่วยชาย อายุ 71 ปี มีอาการป่วยเป็นอัมพฤกษ์ มาเข้ารับการรักษาที่แพทย์แผนไทย (ดิฉันขอเรียกว่า “คุณลุง”) คุณลุงเล่าให้ฟังว่าทางบ้านไม่ค่อยมีรถจะมาส่ง บางครั้งต้องไหว้วานให้คนข้างบ้านมาส่งที่โรงพยาบาล ทำให้คุณลุงนึกถึงสมัยที่ยังหนุ่มๆ ตอนที่ร่างกายยังแข็งแรงดี แต่กลับไม่ยอมใส่ใจเรื่องสุขภาพสักเท่าไร ถ้าใส่ใจดูแลสุขภาพตั้งแต่สมัยนั้น ตอนนี้คงไม่ต้องรบกวนคนอื่นเขา ดิฉันได้แต่ฟังไม่ได้แสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด จากนั้นก็ส่งคุณลุงขึ้นรถส่วนตัวกลับบ้าน
      แล้ววันหนึ่งดิฉันต้องตะลึงเมื่อได้เห็นคุณลุงนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อที่จะมานวด ดิฉันจึงได้บอกคุณลุงไปว่านั่งรถมอเตอร์ไซค์มามันอันตราย คุณลุงตอบว่า “ก็ลุงอยากมานวด แต่ไม่มีรถเลยจ้างรถมอเตอร์ไซค์ให้มาส่ง” ดิฉันจึงได้ถามว่าคนทางบ้านทราบหรือเปล่าว่าลุงมาโรงพยาบาล คุณลุงตอบว่าไม่ได้บอกใคร ดิฉันจึงได้พาคุณลุงเข้ารับการนวดรักษา เมื่อนวดรักษาเสร็จเรียบร้อยจึงโทรให้คนที่บ้านคุณลุงมารับแต่ไม่มีใครรับโทรศัพท์ คุณลุงจึงนั่งรอจนถึง 16.30 น. พอดีมีเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยท่านหนึ่งกำลังจะกลับบ้านพอดีคุณลุงจึงได้อาศัยติดรถเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยท่านนั้นกลับบ้านไปด้วย
      หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาดิฉันจึงนัดคุณลุงให้มารับการรักษาในช่วงบ่ายโมงทุกครั้ง เพื่อที่คุณลุงจะได้อาศัยรถเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยกลับบ้านพร้อมกัน แต่ที่ทำให้ดิฉันรู้สึกประหลาดใจและประทับใจมากขึ้นคือนับแต่นั้นมาดิฉันจะเห็นคุณลุงนั่งรถเพื่อมานวดรักษาพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยท่านนั้นทุกครั้งเมื่อสอบถามคุณลุงบอกว่าคุณหมอ (เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย) จะมารับลุงที่บ้านในช่วงหลังพักเที่ยงเพื่อที่ลุงจะได้มานวดในช่วงเวลาบ่ายโมง และก็ให้ลุงรอกลับบ้านพร้อมกันเลยทีเดียว ซึ่งก็รอไม่นานนัก ทุกวันนี้คุณลุงเปรียบเสมือนกับญาติผู้ใหญ่ของดิฉันและแผนกแพทย์แผนไทยเลยทีเดียวค่ะ

เรื่องเล่าความดี–ยิ้มไว้จะดีเอง

ยิ้มไว้จะดีเอง

นางสุภิสา สุวรรณสิงห์
ผู้ช่วยเหลือคนไข้ผู้ป่วยใน

      มีผู้หญิงคนหนึ่ง นามสมมุติว่า หนิ๊ง มานอนโรงพยาบาล ด้วยว่ากินยาฆ่าตัวตาย คนไข้คนนี้มานอนโรงพยาบาลด้วยความไม่เต็มใจมานอน มาถึงผู้ช่วยเหลือคนไข้ ทำการอธิบายการมานอนโรงพยาบาลว่าต้องทำอะไรบ้าง คนไข้รับฟังแต่ไม่พูดอะไรตอบ ไม่พูดกับใคร นั่งฟัง มองตาเราและร้องไห้ตลอด เหมือนมีน้ำตาอยู่ในตา พร้อมที่จะไหลออกมาพรั่งพรูเป็นสายน้ำ พอดิฉันเห็นก็เลยเข้าไปพูดคุยกับคนไข้คนนี้ว่า คุณทำไมถึงยังไม่อยากอยู่ในโลกใบนี้คะ
  คนไข้ : ฉันไม่อยากอยู่ ฉันอยากตาย ไม่มีใครรักฉันเลย
  ดิฉัน : คุณมีลูกไหม ?
  คนไข้ : มีค่ะ แต่พ่อเค้าดูแล
  ดิฉัน : เค้าดูแลได้เหมือนกับที่คุณดูแลไหม? ถ้าคุณเป็นอะไรไปคุณรู้ไหมว่าลูกคุณจะอยู่อย่างไร ถ้าเค้าเอาลูกคุณไปทำอะไรที่ไม่ดีคุณจะช่วยเค้าได้ไหม
คุณรักลูกของคุณไหม?
  คนไข้ : เงียบ …..ไม่ตอบ
  ดิฉัน : คนเราทุกคนมีปัญหา แต่มีปัญหาแล้วต้องตั้งสติ เพราะปัญหามีไว้แก้ ไม่ใช่มีไว้ทุกข์ ยิ้มเข้าไว้จะดีเอง
  คนไข้ : แต่หนูอยากตาย ช่วยหนูด้วย หนูอยากตาย
  ดิฉัน : ฉันจะไม่บอกอะไรคุณแล้วนะ ถ้าคุณลองคิดตามที่ฉันพูดแล้วลองถามตัวเองว่า รักลูกไหม? ถ้าตอบว่า รัก คุณก็เลิกความคิดนี้นะ เพราะคนที่คิดฆ่าตัวตายมันเป็นบาป
  คนไข้ : นิ่ง เงียบ อยู่กับความคิดของตัวเอง
  ดิฉัน : ขอตัวไปทำงานต่อนะคะ ฉันจะเป็นกำลังใจให้ เดี๋ยวดิฉันจะออกไปซื้อน้ำแล้วจะซื้อมาให้นะ
      ( ขณะนั้นหมอให้คนไข้กินอะไรได้แล้ว )
  คนไข้ : มองหน้าฉันแล้วน้ำตาไหล จากนั้นก็ออกจากโรงพยาบาลไป
  ดิฉัน : เจอคนไข้ที่ตลาดนัด ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม ดิฉันเลือกของอยู่มีผู้หญิงคนหนึ่งมาสะกิด หมอคะ หมอคะ ดิฉันเห็นผู้หญิงคนนี้ก็นึกออกถามเค้า ว่า เป็นไงสบายดีไหม? ผู้หญิงคนนี้ยกมือไหว้และบอกว่า ขอบคุณมากนะคะหมอที่วันนั้นหมอพูดให้หนูได้สติ ถ้าหมอไม่พูดหนูคงกลับมากินยาฆ่าตัวตายอีกและไม่ได้อยู่กับลูกของหนู หนูขอบคุณมากนะคะ ไม่เป็นไรค่ะ ฉันตอบ ฉันดีใจที่คุณคิดได้ ขอบคุณตัวคุณมากกว่าที่คุณรักลูกคุณและที่สำคัญก่อนที่จะรักคนอื่น เราต้องรักตัวเองก่อนทุกครั้ง แล้วผู้หญิงคนนั้นก็เดินจากไปด้วยความซาบซึ้งและคนไข้คนนี้ก็ไม่เคยกินยาฆ่าตัวตายอีกเลย

เรื่องเล่าความดี–ผู้ทรงศีล 3 ท่าน

ผู้ทรงศีล 3 ท่าน

นางอนัญญา หมื่นมี
งานแพทย์แผนไทย รพ.มวกเหล็ก

      มีแม่ชี 3 ท่านเข้ามารับการรักษาที่แผนกแพทย์แผนไทย 1 ท่าน ที่มีอาการปวดเข่า 2 ท่าน มีอาการปวดหลังเป็นมานานหลายเดือนซึ่งท่านต้องนั่งสมาธิและเดินจงกรมไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ท่านทั้ง 3 มีอาการปวดมากจนทนไม่ได้ จึงได้เข้ามารับการรักษาพร้อมกันทั้ง 3 ท่าน จากกการสังเกต พบว่าตอนที่แม่ชีที่มีอาการปวดเข่าเวลาเดินต้องใช้ไม้เท้าช่วย เนื่องจากอายุของท่านมากแล้ว อีกทั้งระบบกระดูกไม่ค่อยดีเท่าไรนัก หลังจากการรักษาในครั้งแรก แม่ชีสามารถเดินได้คล่องแคล่วขึ้นกว่าเดิม จึงได้ทำการนัดให้แม่ชีมารักษาต่อเนื่องตามแผนการรักษาทางด้านแพทย์แผนไทย แม่ชีบอกว่าประทับใจ ห้องน้ำสะอาดดี สถานที่และอาคารก็ร่มรื่นชวนให้ผ่อนคลายสบายใจ อีกทั้งได้ฟังธรรมะระหว่างที่กำลังนวดรักษาอยู่ ทำให้รู้สึกสบายกายสบายใจดี

เรื่องเล่าความดี–ประโยคที่อยากได้ยิน

ประโยคที่อยากได้ยิน

นางชมภูนุช เศรษฐผล
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

      นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายให้ รพ.ทุกแห่งตรวจสุขภาพแรงงานต่างชาติเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานโดยรพ.มวกเหล็ก รับตรวจทุกวันจันทร์ อังคาร และพฤหัสบดี เริ่มตรวจมาตั้งแต่วันที่ 5 กรกฏาคม จนถึงวันที่ 12 กันยายน 2554 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานมีการประชุม ทำความเข้าใจและกำหนดขั้นตอนการทำงานร่วมกัน ฉันในฐานะห้วหน้างานที่เกี่ยวข้องในส่วนของการซักประวัติและลงบันทึก ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ จนถึงส่งผู้รับบริการเข้าพบแพทย์และให้ยาหลังตรวจเสร็จ มีการกำหนดผู้รับผิดชอบและประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เมื่อถึงวันเริ่มตรวจมีปัญหาเรื่องขั้นตอนการรับบริการบ้างแต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี นับวันจำนวนแรงงานต่างชาติที่มาตรวจจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอัตรากำลังที่มีอยู่เท่าเดิม แต่จำนวนผู้มารับบริการเพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็นปัญหาในการปฏิบัติงาน บ่อยครั้งที่จนท.ไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน หรือต้องผลัดเปลี่ยนกันรับประทานอาหารโดยใช้เวลา 10-15 นาที เพื่อจะมาทำงานให้ทันรอบบ่าย
       เดิมทีการทำงานในแต่ละวัน จนท.ส่วนใหญ่จะทำงานประจำ 80 % ส่วนอีก 20 % เป็นงานพิเศษของแต่ละคนที่ได้รับมอบหมายโดยใช้เวลาที่พอจะมีเหลือในวัน นับตั้งแต่เริ่มตรวจสุขภาพแรงงานต่างชาติ งานพิเศษเป็นอันว่าลืมไปได้เลย เพราะทำงานประจำ 100 % ( 8 ชั่วโมง)เพื่อให้งานเสร็จทันเวลา ส่วนงานพิเศษก็ต้องกลายเป็นงานนอกเวลาไป บ่อยครั้งที่ความเครียดจากภาระงาน ความผิดพลาดจากการสื่อสาร ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างจนท.ของหน่วยงาน แต่ท่ามกลางความวุ่นวายที่แผนกผู้ป่วยนอกในแต่ละวัน ยังมีสิ่งดีๆที่เกิดขึ้น นั่นคือฉันได้เห็นความร่วมมือร่วมใจ การหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุผล ความเห็นอกเห็นใจกันของบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล จนท.ศูนย์ข้อมูล จนท.LAB รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ที่เกิดจากการกระเซ้าเย้าแหย่กัน
      ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ฉันเกิดความประทับใจ เมื่อเกือบบ่ายโมงแต่แพทย์และจนท.ทุกคนยังทำงานไม่แล้วเสร็จ มีจนท.บันทึกข้อมูลเดินผ่านมา แล้วถามฉันว่า “เหนื่อยมั๊ย”และ “พี่กินข้าวรึยัง”ฉันรู้สึกหายเหนื่อยเกือบจะทันที ตอบขอบคุณน้องที่ถามไถ่และแสดงถึงความเห็นใจ จริงสินะที่ผ่านมาฉันละเลยที่จะถามประโยคง่ายๆ เพียง 2 ประโยคนี้กับเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ผู้ที่อยู่ในความดูแลของฉันเอง ทั้งที่เป็นคำพูดที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ ไม่ต้องการคำตอบ แต่ต้องเติมความจริงใจลงในประโยคเพียงเท่านี้ผู้ฟังก็รู้สึกดี เหมือนเช่นฉัน
       “แม้มิได้ตอบแทนด้วยเงินตรา ขอเพียงสุนทรียวาจาก็ยังดี”